“ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS)” จะโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 8 -17 มี.ค. เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 5 มี.ค. และสุกสว่างมากที่สุดเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มี.ค. นี้ ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกดินประมาณ 30 นาที หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ดาวหางจะปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้าบริเวณกลุ่มดาวปลา และหากอยู่บริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงรบกวนและไม่มีสิ่งบดบัง จะมีโอกาสเห็นดาวหางแพนสตาร์อยู่บนฟากฟ้าได้ด้วยตาเปล่า หรือหากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ช่วย ก็จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ดาวหางแพนสตาร์ค้นพบโดยกล้อง Pan-STARRS บนเกาะฮาวาย ในเดือนมิถุนายนปี 55 ปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องมีวงโคจรเป็นแบบไฮเปอร์โบลา จะโคจรมาใกล้โลกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นและจะไม่กลับมาอีก จึงเป็นโอกาสเดียวที่มนุษย์จะได้เห็นดาวหางดวงนี้
ทั้งนี้จากการติดตามการเคลื่อนที่ดาวหางดวงนี้ นักดาราศาสตร์พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดาวหางแพนสตาร์ที่สังเกตได้มีหางฝุ่นสั้นและมีความสว่างปรากฏน้อยมาก จากเดิมที่คาดการณ์ว่าดาวหางแพนสตาร์น่าจะสว่างพอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยง่าย แต่ปัจจุบันเมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกมากขึ้น ได้มีการศึกษาและคำนวนค่าความสว่างปรากฏแล้วพบว่าอาจมีความสว่างไม่มากเท่า ที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
อย่างไรก็ดี หากพลาดชมดาวหางแพนสตาร์สเยือนโลก ในเดือนพย.ยังมีปรากฎการณ์ดาวหางใกล้โลกครั้งสำคัญ มาให้ชมอีกครั้ง โดยเป็น ดาวหางที่ชื่อว่า ไอซอน ซึ่งถูกค้นพบเมื่อเดือน ก.ย. 55 ที่ผ่านมา และเป็นดาวหางที่นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นมาก เพราะจัดอยู่ในกลุ่มดาวหางที่เฉียดหรือใกล้ดวงอาทิตย์มาก คือห่างประมาณ 1.9 ล้านกิโลเมตร และห่างจากผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตร ทำให้คาดว่าจะเป็นดาวหางที่สว่างมากสุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา หากไม่เกิดการแตกหรือสูญสลายไปเสียก่อนเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ จากการคำนวณของนักดาราศาสตร์ คาดว่าดาวหางไอซอน จะใกล้ดวงอาทิตย์และสว่างที่สุดในวันที่ 28-29 พ.ย. และอาจสุกสว่างใกล้เคียงกับดวงจันทร์เต็มดวงทีเดียว ทั้งนี้ดาวหางไอซอนจะใกล้โลกที่สุดราววันที่ 26-27 ธ.ค. โดยห่างจากโลกประมาณ 64 ล้านกิโลเมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น